หน้าหลัก / ประวัติเทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย / ประวัติคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระวัติคณะสหเวชศาสตร์

คณะสหเวชศาสตรเริ่มมาจากการใช้ตึกเทคนิคการแพทย์ (ตึก 14) ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยใน พ.ศ. 2500
เป็นห้องปฏิบัติการกลาง ให้บริการแก่โรงพยาบาลและเริ่มทำหน้าที่สอนนักศึกษาเทคนิคการแพทย์ใน พ.ศ. 2502
โดยขณะนั้นยังสังกัดในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาใน พ.ศ. 2511

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีหนังสือที่ สร.2001/237 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2511 ถึงมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขอโอนคณะเทคนิคการแพทย์ส่วนที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไปรวมกับสาขาวิชาพยาธิวิทยาคลินิกของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อตั้งเป็นภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตรซึ่งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ตอบว่าพร้อมที่จะโอนคณะเทคนิคการแพทย์ส่วนที่ตั้งใน
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์พร้อมทั้งข้าราชการจำนวน 14 คน แต่เห็นว่าควรจะโอนไปเป็นคณะเทคนิคการแพทย์
จากนั้นได้มีการประชุมรวมกันระหว่างสถาบันทั้งสองกับต้นสังกัดคือสำนักนายกรัฐมนตรีอีกหลายครั้ง
(ขณะนั้นมหาวิทยาลัยสังกัดนายกรัฐมนตรี) ยังไม่เป็นที่ตกลงกันแต่ก็มีมติที่ประชุมร่วมของทั้งสองมหาวิทยาลัย
ให้มหาวิทยาลัยมหิดลรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2513-2514 จำนวน 70 คน
โดยให้นักศึกษาจำนวน 30 คนสมัครใจไปศึกษาต่อชั้นปีที่ 3 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จากนั้นได้มีการตราข้อบังคับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยการจัดเพิ่มแผนกวิชาใน
คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2514 ขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2541 โดย ในข้อ 3 ให้เพิ่มแผนกวิชาในคณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ แผนกวิชาเวชศาสตร์ชันสูตร และใน พ.ศ. 2514ได้มีการปฏิวัติการปกครองแผ่นดินขึ้นและได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 22 ลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 88 ตอนที่ 143 หน้า 1-4 วันที่ 20 ธันวาคม 2514 ให้โอนคณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ส่วนที่อยู่ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยไปเป็นของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ อย่างเป็นทางการในจุฬาลงกรณ์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2514

ภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร ที่ตั้งขึ้นมีหน้าที่จัดการเรียนการสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตเทคนิคการแพทย์ วิชาพยาธิวิทยาคลีนิค แก่นิสิตแพทย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นห้องปฏิบัติการกลางให้บริการแก่ผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีบุคลากรที่มาจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ประกอบด้วยข้าราชการจำนวน 18 คน ลูกจ้าง 7 คน จากหน่วยวิชาพยาธิวิทยาคลินิก ภาควิชาพยาธิวิทยา 5 คน ใน พ.ศ. 2518 คณะแพทยศาสตร์(ศ.นพ.สมัคร พุกกะณะเสน เป็นคณบดี) ได้มีหนังสือที่ 52/2518 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2518 แต่งตั้งอนุกรรมการร่างโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ขึ้นโดยมี ศ.นพ. เชวง เดชะไกศยะ เป็นประธานเพื่อเสนอในแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 4 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(พ.ศ.2520-2524) ผลที่ได้คือโครงการตกไปตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย พ.ศ.2521 คณะแพทยศาสตร์ (ศ.นพ.ศริพร วณิเกียรติ เป็นคณบดี) มีคำสั่งที่ 84/2521 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2521 แต่งตั้งคณะผู้ทำงานหาข้อมูล เรื่องการศึกษาสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ มีหน้าที่ดำเนินการหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ โดยมี รศ.นพ. ศีลวัต อรรถจินดา รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา เป็นประธานกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการได้เสนอต่อที่ประชุมกรรมการประจำคณะ ให้ดำเนินการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ ในแผนพัฒนาระยะที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) ผลของการดำเนินการคือโครงการได้ผ่านขั้นตอนตามลำดับไปจนถึงทบวงมหาวิทยาลัย ในที่สุดโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ก็ยังไม่ผ่าน เพียงแต่ให้ดำเนินการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ขึ้นมาก่อนแล้วค่อยเสนอโครงการจัดตั้งคณะขึ้นไปใหม่ในแผนพัฒนาระยะที่ 6 กองแผนงานทบวงมหาวิทยาลัยได้มีหนังสือที่ ทม. 0204/14388 ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2526 แจ้งว่าคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัยได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 6/2526 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2526 เห็นชอบการจัดตั้งภาควิชาเทคนิคการแพทย์ในคณะแพทยศาสตร์ และมีประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแบ่งส่วนราชการในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2527 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 101 ตอนที่ 88 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2527 มีภาควิชาเทคนิคการแพทย์อยู่ในลำดับที่(8) จากนั้นก็ได้มีการแยกบุคลากรในภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตรตามความสมัครใจเป็น 2 ภาควิชา โดยมีเงื่อนไขว่าให้ห้องปฏิบัติการกลางและบุคลากรที่สังกัดสภากาชาดไทยทั้งหมดอยู่ในภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร คณะแพทยศาสตร์(รศ.นพ.ยาใจ ณ สงขลา เป็นคณบดี) มีคำสั่งที่ 19/2527 ลงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำโครงการเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ เพื่อดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำโครงการจัดตั้งคณะเทคนิคการแพทย์ ตามแผนพัฒนาระยะที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) มีรองคณบดีฝ่ายวิชาการเป็นประธานกรรมการ หัวหน้าภาควิชาเทคนิคการแพทย์ เป็นรองประธาน คณะกรรมการชุดนี้ได้ทำโครงการคณะเทคนิคการแพทย์เสนอขึ้นอีกครั้งโดยเปลี่ยนชื่อคณะเป็นคณะสหเวชศาสตร์ โดยมีเหตุผลว่าการที่จะตั้งขึ้นใหม่มีลักษณะเป็นคณะที่ประกอบด้วยสาขาวิชาชีพหลายสาขา แต่ชื่อเทคนิคการแพทย์นั้นเป็นเพียงวิชาชีพเดียวจึงไม่ครอบคลุม อีกประการหนึ่งได้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Faculty of Associate Medical Science หมือนกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เห็นว่าชื่อภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ใช้คือ คณะเทคนิคการแพทย์นั้นไม่ตรงกัน เพราะถ้าใช้ชื่อเทคนิคการแพทย์ก็ควรจะใช้ชื่อภาษาอังกฤษเป็น Medical Technology เหมือนกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อให้ชื่อภาษาไทยใกล้เคียงที่สุด จากการปรึกษานักภาษาศาสตร์หลายท่านแล้ว คณะกรรมการจึงเลือกใช้ชื่อคณะสหเวชศาสตร์ ไปจนกว่าจะมีชื่อที่เหมาะสมกว่านี้ ผลของการดำเนินการในครั้งนี้ได้มีการบรรจุคณะเทคนิคการแพทย์ ไว้ในแผนระยะที่ 6 คณะแพทยศาสตร์(ศ.นพ. จรัส สุวรรณเวลา เป็นคณบดี) มีประกาศลงวันที่ 18 เมษายน 2529 แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ขึ้น ตามมติคณะกรรมการ คณะแพทยศาสตร์ ครั้งที่ 4/2529 วันที่ 7 มีนาคม 2529 เพื่อทำหน้าที่กำหนดแผนหลักในการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ มีคณบดีเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้ได้จัดทำโครงการขอจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ โดยมีมติให้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น Faculty of Allied Health Science ซึ่งกว้างกว่าและไม่ใช่วิชาชีพที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ แต่เป็นวิชาชีพอิสระ จากนั้นได้ถึงวาระที่เปลี่ยนแปลงผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ใหม่ คณะแพทยศาสตร์( รศ.นพ. บันเทิง รัชตะปิติ เป็นคณบดี )ได้มีประกาศคณะแพทยศาสตร์ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2532 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ คณะสหเวชศาสตร์ขึ้น เพื่อขอจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ต่อไป เพื่อให้เสร็จสิ้นภายในแผนพัฒนาระยะที่ 6

ในที่สุดคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ในคราวประชุมครั้งที่ 6/2533 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2533 ก็ได้ให้ความเห็นชอบกับการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ ( Faculty of Allied Health Sciences )เพื่อผลิตบัณฑิตในกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาต่างๆ เช่นเทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด และรังสีเทคนิค และเพื่อให้บริการทางสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยมีข้อสังเกตเรื่องชื่อคณะ จึงให้นำเสนออนุกรรมการบัญญัติศัพท์อุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณา ซึ่งต่อมาคณะกรรมการก็ไม่ได้แก้ไขชื่อคณะแต่อย่างใด

คณะสหเวชศาสตร์ได้จัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ หน้าที่ 64-65 เล่มที่ 108 ตอนที่ 199 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 ต่อมามีประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่องการแบ่งส่วนราชการของคณะสหเวชศาสตร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 หน่วยงาน คือ
•  สำนักงานเลขานุการ
•  ภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก
•  ภาควิชาเคมีคลินิก
•  ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด
•  ภาควิชากายภาพบำบัด
•  ภาควิชารังสีเทคนิค

•  หน่วยปฏิบัติการ ประกาศเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2534